อยากเขียนเว็บไซต์ต้องรู้อะไรบ้าง
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์ประกอบด้วยอะไรบ้าง
- HTML อันนี้จำเป็นสุดๆ เพราะมันเป็นภาษาหลักๆที่ Browser ที่เราใช้เปิดเว็บไซต์เข้าใจ ถ้าเราไม่สามารถเขียน HTML ได้ เราจะไม่สามารถสร้างเว็บไซต์ได้
- CSS ใช้ในการตกแต่ง HTML เพื่อให้แสดงผลได้สวยงาม ถ้าเป็นเว็บไซต์สมัยใหม่ อันนี้จำเป็นต้องรู้ ถ้าไม่รู้ เว็บไซต์อาจจะไม่สวยได้
- Javascript เป็นภาษาสคริปต์ภาษาหนึ่ง ปกติจะใช้เพื่อให้เว็บไซต์ดูมีชีวิตชีวาขึ้น (HTML เปล่า ๆ มันตอบสนองผู้ใช้ไ่ด้ไม่ดีนัก) จริงๆในเบื้องต้น อาจยังไม่ต้องศึกษามันมากนักก็ได้ อาจศึกษาเพียงแค่หยิบมาใช้ได้เท่านั้น
ทั้ง 3 รายการด้านบน เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเว็บไซต์ ถ้าเช้าใจ 3 เรื่องนี้ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ได้สำเร็จแล้ว แต่ถ้าต้องการสร้าง Web Application สามอย่างข้างต้นอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีภาษาสคริปต์สำหรับทำงานในฝั่ง Server ด้วย (3 ภาษาข้างต้นทำงานบนบราวเซอร์หรือในเครื่องของเราเท่านั้น)
- PHP, ASP, JAVA, RUBY ...... และอีกมากมายหลายภาษา ซึ่งเป็นภาษาที่ทำงานฝั่ง Server ให้เราได้เลือกใช้ ซึ่งในข้อนี้ก็ต้องตัดสินใจกันเอาเองแล้วละครับว่าอยากจะเขียนเว็บไซต์โดยภาษาอะไร และโดยทั่ว ๆ ไปในการเขียนโปรแกรมบนเว็บไซต์เราจะพูดกันถึงภาษานี้เป็นหลักว่าเว็บไซต์นี้สร้างจากภาษาอะไร เช่น เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นจากภาษา PHP
ถึงตอนนี้ คงรู้แล้วว่าต้องศึกษาอะไรบ้าง แต่มันมีคำถามยอดฮิตอันนึง ที่ถามกันบ่อยๆ คือ "เราควรจะเริ่มศึกษาจาก Framework เลยดีมั้ย"
ทำความเข้าใจก่อนว่า Framework คืออะไร
Framework แปลกันตรงๆ คือ "กรอบการทำงาน" จุดประสงค์ของมันใช้เพื่อจัดระเบียบการเขียนโค้ดแบบมีแบบแผน เพื่อ
- ให้คนอื่นที่เห็นโค้ดเราเข้าใจง่ายๆ
- เพื่อส่งต่อให้คนอื่นทำงานต่อได้ง่าย
- เพื่อทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ง่าย
- เพื่อให้งานเสร็จเร็ว ๆ เขียนโค้ดน้อยๆ (หรือไม่ต้องเขียนโค้ดเลยก็ได้)
จริง ๆ ก็เหมือนจะเป็นข้อดีในการเริ่มต้นโดยใช้ Framework นะครับ แต่การศึกษาจาก Framework จะทำให้เราละเลยเรื่องพื้นฐาน เพราะจะทำให้เรามุ่งที่จะไปศึกษาในส่วนของการใช้งาน Framework แทน ซึ่งจะมีปัญหาทันทีหากงานที่ทำไม่สนับสนุนโดย Framework นั้นๆ หรือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
ลองมาดูปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ Framework
- Framework มีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีรายละเอียดและวิธีเขียนแตกต่างกัน การศึกษาเริ่มต้นจากอันนึง เปลี่ยน Framework ใหม่ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ ไม่มีใครสามารถใช้ Framework หนึ่ง แล้วสามารถเปลี่ยนไปใช้ Framework อื่นโดยไม่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
- Framework มันตายได้นะ หลายๆยี่ห้อได้รับความนิยมลดลง บางยี่ห้อไม่ได้รับการปรับปรุงมานานแล้ว
- โลกนี้ไม่ได้มีแต่ Framework ยังมีคนที่เขียนโดยไม่ใช้ Framework อีกมาก คนที่คุ้นเคยแต่การใช้ Framework พอเจอโค้ดที่เขียนแบบธรรมดาทั่วไปจะไปไม่เป็นก็เยอะ ในทางกลับกัน คนที่คุ้นเคยกับวิธีเขียนแบบพื้นฐาน จะสามารถมองโค้ดที่เขียนโดยคนอื่นได้ง่ายกว่า เพราะเขาจะไม่ยึดติดกับรูปแบบในการเขียน
- Framework มันทำงานได้ช้านะ ยังไงซะมันก็ทำงานได้ช้ากว่าเขียนโดยไม่ได้ Framework แน่ๆ
ผมไม่ได้บอกว่า Framework ไม่ดี หรือไม่ควรศึกษานะครับ แต่มันควรถูกศึกษาหลังจากพื้นฐานเราดีพอแล้ว เพราะมันจะช่วยให้เราทำงานได้หลากหลายกว่า และการต่อยอดไปย้ง Framework อื่นๆยังทำได้ง่ายด้วย และนอกจากนี้ พื้นฐานยังทำให้เราสามารถปรับปรุง แก้ไข ให้ Framework ที่เราใช้งานอยู่สามารถทำได้ในแบบที่เราต้องการได้อีกด้วย